about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 เลือกกองทุนรวมอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเอง


ดิฉันสนใจที่จะลงทุนในกองทุนรวม แต่ไม่รู้จะเลือกกองทุนรวมประเภทไหนให้เหมาะสมกับตัวเองดี ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ
🅰 ขอบคุณสำหรับคำถามนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ผู้ลงทุนหลายๆ ท่าน ติดใจสงสัย ก่อนอื่นผู้ลงทุนต้องพิจารณาหรือสำรวจ ตัวเองก่อนว่า มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร ต้องการให้เงินลงทุนงอกเงยสูง ต้องการสะสมเงินเพื่อใช้ใน การศึกษาของบุตร เพื่อใช้ในยามชราของตนเอง หรือต้องการกระจายการลงทุนให้หลากหลาย สำหรับผู้ลงทุน ที่มีเงินเย็นและต้องการลงทุนในระยะยาวจะตัดสินใจลงทุนในกองทุนปิดหรือกองทุนเปิดก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับ ผู้ลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องในบางช่วง ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนเปิด เพราะผู้ลงทุนสามารถจะไถ่ถอน หน่วยลงทุนได้เมื่อต้องการตามช่วงระยะเวลาที่กองทุนนั้นกำหนดไว้ โดยกองทุนเปิดส่วนใหญ่จะขายและรับซื้อคืน หน่วยลงทุนของกองทุนเปิดทุกวันทำการ

การลงทุนในกองทุนรวม ก็ไม่แตกต่างจากการลงทุนอื่นๆ คือ มีความเสี่ยงจากการลงทุน ผู้ลงทุนอาจจะได้รับ ผลตอบหรือเกิดการขาดทุนจากการลงทุนก็ได้ ฉะนั้นผู้ลงทุนต้องตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับ วัตถุประสงค์ของผู้ลงทุนเอง เหมาะสมกับเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถจะใช้ติดตามข้อมูลข่าวสารของกองทุน รวมไปถึง พิจารณาเลือกกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนในระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถยอมรับได้ เช่น

1. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) คือ กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นเอง หรือจะเรียกว่ากองทุนหุ้นก็ได้ กองทุนประเภทนี้มักจะมี การเคลื่อนไหวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ NAV ค่อนข้างมาก มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนในระดับที่สูง ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้มากมายไม่แพ้กัน ฉะนั้นผู้ลงทุนคนไหนที่รักความเสี่ยง ต้องการ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูง ชื่นชอบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือปกติก็ซื้อขายหุ้นเป็น การส่วนตัวอยู่แล้ว การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมค่ะ (คำเตือน: ผู้ลงทุนที่หัวใจไม่แข็งแรง ก็คงไม่เหมาะกับกองทุนประเภทนี้นะคะ )

2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) คือ กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ ที่ออกโดยบริษัทเอกชนต่างๆ พันธบัตรรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ผลตอบแทนที่ควรจะได้จาก กองทุนประเภทนี้ จะไม่หวือหวามากนัก เพราะรายได้หลักของกองทุนประเภทนี้จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย จากตราสารหนี้ที่กองทุนได้ไปลงทุนไว้นั่นเอง แม้ว่าราคาตลาดของตราสารหนี้จะมีเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะของอัตราดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ผลตอบแทนโดยรวมของตราสารทางการเงิน ประเภทนี้ ก็ไม่หวือหวาเท่ากับตราสารทุน สำหรับคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย กองทุนรวมตราสารหนี้ ก็เป็นทางเลือกที่น่าจะพิจารณาลงทุนค่ะ

3. กองทุนรวม ผสม (Balanceed Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนทั้งหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยและตราสารหนี้ผสมกัน ตามสัดส่วนเงินลงทุนที่กำหนดเอาไว้ ความผันผวนของอัตรา ผลตอบแทนที่ได้รับจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของหลักทรัพย์ที่นำไปลงทุน เช่น ถ้ากองทุนใดที่ นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า ความผันผวนของผลตอบแทนก็จะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนที่ นำเงินไปลงทุนในหุ้นทุนมากกว่า เป็นต้น (ศึกษารายละเอียดหลักทรัพย์ที่กองทุนนั้นๆจะนำไปลงทุนได้ จากหนังสือชี้ชวน) กองทุนรวมผสมนี้จะมีความเสี่ยงในระดับปานกลางเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ ต้องการโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงปานกลาง และรับความเสี่ยงได้พอประมาณ

4. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสาร ต่างๆได้ทุกประเภทเช่นเดียวกับกองทุนผสม แต่ไม่มีการกำหนดสัดส่วนในการลงทุนเอาไว้ การจัดสรรเงิน ลงทุนของกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นระหว่างตราสารหนี้ และตราสารทุนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ผู้จัดการกองทุนรวมกองนั้นๆ ตามความเหมาะสมและ สภาวการณ์ในแต่ละขณะ สำหรับความเสี่ยงและ ผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้ก็ไม่แตกต่างกับกองทุนผสมมากนัก แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากผู้จัดการกองทุนตัดสินใจลงทุนได้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ในขณะนั้น ฉะนั้นผู้ลงทุนที่จะลงทุนใน กองทุนประเภทนี้ก็ต้องมีความเชื่อมั่นและวางใจในตัวผู้จัดการกองทุนในระดับหนึ่ง

5. กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Capital Protection Fund) คือ กองทุนที่มีนโยบายที่จัดสรรเงินลงทุน ส่วนใหญ่ไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะส่งผลให้ต้นเงินของกองทุนไม่หายเมื่อครบกำหนดอายุ โครงการหรือระยะเวลาการลงทุนที่กำหนด ส่วนที่เหลือเพียงเล็กน้อยจะไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยง มากกว่าเพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่เงินต้นจะไม่สูญจึงมีมาก หากผู้ลงทุนได้ลงทุนในกองทุนประเภทนี้จนครบกำหนดอายุโครงการหรือครบระยะเวลาที่กองทุนกำหนด ไว้ กองทุนคุ้มครองเงินต้นนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรักษาเงินลงทุนเริ่มต้นไว้ และต้องการโอกาส ที่จะได้ผลตอบแทนไม่มากนักกองทุนคุ้มครองเงินต้นนี้ นับได้ว่าเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และ ผลตอบแทนจากกองทุนนี้ก็อยู่ในระดับไม่สูงนักเช่นเดียวกัน แต่เท่าที่ทราบก็ยังคงสูงกว่าการฝากเงินกับ ธนาคารค่ะ

สุดท้ายกองทุนรวมที่อยากจะกล่าวถึงสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายยามชรานั่น ก็คือ “ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)” เป็นกองทุนพิเศษที่จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ออมเงินผ่านการลงทุนเก็บไว้ใช้ จ่ายหลังเกษียณอายุไปแล้ว โดยให้ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นสิ่งจูงใจ ส่วนนโยบายและความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อ การเลี้ยงชีพนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วๆ ไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ

กองทุนรวมที่เปิดเสนอขายกันอยู่นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีเพียงเท่าที่กล่าวมา หากยังแยกย่อยให้มีความหลากหลาย เพื่อความเหมาะสมของผู้ลงทุนแต่ละคน ที่ยกมากล่าวนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำเสนอให้ผู้ลงทุนได้มองเห็น ภาพรวมกว้างๆ ฉะนั้นในส่วนของรายละเอียดขอให้ผู้ลงทุนศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมนั้นๆ แล้วเลือกให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้นะคะ