about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 การลงทุนในกองทุนรวมกองทุนรวมกับของสมนาคุณ


มีข้อสงสัยว่า บลจ. ขายกองทุนรวมโดยมีของแจกแถมให้ลูกค้าด้วย ซึ่งของแถมมีทั้ง ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ ราคามากน้อยต่างกัน และหากบริษัทแจกของชิ้นโต หรือมีราคาสูง นักลงทุนก็จะไปซื้อกองทุนรวมนั้นกันเยอะ ผมจึงมีความสงสัยว่า ทางหน่วยงานที่ควบคุมดูแลมีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับของแจกแถมไว้บ้างหรือไม่ แล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของแจกแถมเหล่านั้น บริษัทควักกระเป๋าเอง หรือหักจากเงินของกองทุนรวมครับ
🅰 การส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บริษัทจัดการ) ด้วยการนำของแจก ของแถม หรือเรียกให้ไพเราะว่า “ของสมนาคุณ” มาให้ควบคู่ไปกับการขายหน่วยลงทุนนั้น บริษัทจัดการ ได้ดำเนินการอยู่ภายใต้แนวทางที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้มีการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งพอจะสรุปในสาระสำคัญได้ ดังต่อไปนี้คือ

1. ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดรายการส่งเสริมการขาย ต้องมีความต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 วัน เว้นแต่ จะเป็นการจัดรายการส่งเสริมการขายในช่วงเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) หรือจัดรายการในการเข้าร่วมงานที่มีหลากหลายบริษัทเข้าร่วม เช่น Money Expo หรือ Thai's Investor Day เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การจัดรายการก็ต้องจัดตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมงานด้วย และต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงรายการส่งเสริมการขายก่อนวันแรกของการจัดรายการนั้น

2. มูลค่าของสมนาคุณ จะต้องไม่เกิน 2% ของมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ โดยมูลค่าขั้นต่ำที่ใช้ใน การคำนวณ ได้แก่

2.1 มูลค่าการซื้อขั้นต่ำที่กำหนด เช่น กองทุน A กำหนดให้ซื้อไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ก็นำ 10,000 บาท มาคำนวณมูลค่าของสมนาคุณ

2.2 กำหนดมูลค่าการซื้อเป็นช่วง เช่น กำหนดมูลค่าการซื้ออยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท ดังนั้น มูลค่าขั้นต่ำของช่วงที่จะนำมาคำนวณมูลค่าของสมนาคุณ ก็คือ 50,000 บาท

3. จำนวนของสมนาคุณที่แจก จะต้องไม่กำหนด หรือจำกัดจำนวนของสมนาคุณที่จะแจก เว้นแต่ เป็นการรวบรวมรายชื่อผู้ซื้อหน่วยลงทุนแล้วนำมาจับฉลาก หรือ สุ่ม (random) เพื่อหาผู้ได้รับ ของสมนาคุณ โดยผู้ซื้อทุกรายต้องมีสิทธิเท่ากัน

ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของสมนาคุณว่าใครเป็นผู้รับภาระ ระหว่างบริษัทจัดการ กับกองทุนรวมนั้น สามารถเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี กล่าวคือ

กรณีแรก: บริษัทจัดการจะเป็นผู้รับภาระการใช้จ่าย หากเป็นการให้แบบมีเงื่อนไข คือ ผู้ซื้อหรือผู้ถือ หน่วยลงทุนทุกคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันจะต้องมีสิทธิได้รับเท่าเทียมกัน เช่น ผู้ซื้อหน่วยลงทุน 10,000-20,000 บาทจะได้รับของขวัญมูลค่า 100 บาท และถ้าซื้อหน่วยลงทุนมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป จะได้รับของขวัญมูลค่า 200 บาท เป็นต้น

กรณีที่สอง: บริษัทจัดการจะคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายหรือกองทุนรวมหากเป็นการให้แก่ผู้ซื้อ หรือผู้ถือหน่วยทุกรายโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะไม่สามารถแจกรางวัลด้วยการจับฉลาก หรือ การสุ่มเลือกได้ โดยที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวม จะส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนลดลง โดยเท่าเทียมกัน และสำหรับกรณีที่จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับกองทุนรวมที่ได้จัดตั้งและจำหน่ายหน่วยลงทุน ไปแล้ว บริษัทจัดการจะต้องได้รับมติเห็นชอบการจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้ถือหน่วยลงทุนก่อน การดำเนินการ

สุดท้าย อยากฝากผู้ลงทุนไว้ว่า ขอให้พิจารณาเลือกที่จะลงทุนในกองทุนรวม จากวัตถุประสงค์การลงทุน ที่ผู้ลงทุนตั้งไว้อย่างแท้จริง ว่ากองทุนรวมที่ผู้ลงทุนเลือกลงทุนนั้น เหมาะสมกับผู้ลงทุน ทั้งในเรื่องของ ผลตอบแทนจากการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถยอมรับได้ ไม่ใช่พิจารณาเลือกลงทุน จากของสมนาคุณที่บริษัทจัดการต่างๆ นำมาส่งเสริมการขาย เพียงเท่านั้น...