about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 ตอนที่ 4 การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล


ยังคงเป็นคำถามสืบเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา เกี่ยวกับ การวางแผนการเงินส่วนบุคคลว่า คืออะไร มีวิธีและขั้นตอนในการดำเนินการ อย่างไร
🅰 จาก 3 ครั้งที่ผ่านมา ได้ทราบไปแล้วว่า เราต้องวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อบริหารจัดการเงินให้สามารถ เพิ่มพูน งอกเงยได้ ด้วยตัวของมันเองอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผนภาษีควบคู่ ไปด้วย โดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายให้มาลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระ ภาษีที่มีให้ลดน้อยลงไป รวมทั้งจะต้องวางแผนประกันชีวิตเอาไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงหรือบรรเทาความสูญเสีย จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สุดท้ายสำหรับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่จะกล่าวถึงกันในครั้งนี้ คือ การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ในอดีตการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุอาจจะไม่มีความจำเป็น เพราะมีลูกหลานคอยเลี้ยงดูเมื่อเราแก่เฒ่าชรา แต่มาถึงปัจจุบันซึ่งสภาพสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การรอคอยให้ลูกหลานมาดูแล คงจะเป็น ความหวังที่ห่างไกล เนื่องด้วยตัวลูกหลานเอง ก็ต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อปากเพื่อท้องและครอบครัวของตนเอง ก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับอนาคตในวัยชราด้วยตนเอง

หากถามว่าควรจะมีเงินออมเป็นจำนวนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอที่จะเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ ตอบว่าไม่มีใครทราบ หรือให้คำตอบได้นอกจาก ตัวของเราเอง กล่าวคือ เราจะต้องสำรวจตัวเองว่า ปัจจุบันอายุเท่าไหร่ สุขภาพดีหรือไม่ พฤติกรรมหรือนิสัยการใช้จ่ายเป็นอย่างไร มีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เราสามารถ นำมาพิจารณาวางแผนได้ว่า อนาคตต้องมีเงินออมเป็นจำนวนเท่าไหร่ถึงจะพอเพียง กรณีนี้ มีสูตรไม่สำเร็จ ที่ผู้รู้ได้เคยกล่าวเอาไว้เป็นแนวทางในการเก็บออม ซึ่งดิฉันได้กล่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ก็ขอยกเอามาแนะนำกัน อีกครั้ง เพื่อให้ทุกคนได้ลองนำไปคำนวณดูค่ะ

โดยวิธีแรก เป็นการพิจารณาจากเงินออมที่ควรมีอยู่ในมือขณะนี้ ซึ่งควรจะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงิน ได้ทั้งปี คูณด้วยอายุในขณะนั้นของตัวคุณเอง

ตัวอย่าง :

ปัจจุบันนี้เราอายุ 30 ปี เงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้ต่อปีก็จะเท่ากับ 240,000 บาท ดังนั้นตอนนี้เราควรจะมีเงินออมอยู่ในมือเท่ากับ 10/100 x 240,000 x 30 = 720,000 บาท และควรจะมี เงินออมเพิ่มขึ้นล้อตามอายุที่สูงขึ้นทุกปีด้วยค่ะ ซึ่งถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ถึงเวลาเกษียณอายุเราก็จะมีเงินออม ก้อนโตไว้ใช้โดยไม่ขัดสนแน่นอน

วิธีที่สอง เป็นการพิจารณาจากเงินออมที่ควรมี ณ วันที่เกษียณอายุ โดยให้นำจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่หลังเกษียณ คูณด้วยค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ตัวอย่าง :

สมมติว่า เราเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าหลังจากเกษียณมีชีวิตอยู่ต่อจนถึงอายุประมาณ 80 ปี ช่วงระยะ เวลา 20 ปีนี้จะเป็นช่วงที่เราไม่มีรายได้ แต่มีค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ และค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นลองมาคิด คำนวณดูว่าปกติปัจจุบันเราใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ หากหลังเกษียณอายุเราอยากจะใช้จ่ายอย่างเช่นปัจจุบันนี้ จะต้องมีเงินเก็บเป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น ตอนนี้เราใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท ดังนั้นตอนเกษียณอายุ เราต้องมีเงินออมอยู่ในมือเท่ากับ 15,000 x 12 x 20 = 3,600,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้คือเงินที่ยังไม่ได้ รวมค่ารักษาพยาบาลไว้ด้วย หากใครที่รู้ตัวว่าร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจจะต้องบวกเพิ่มเงินส่วนนี้เข้าไปอีก เหล่านี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า หากเราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขความสบายในบั้นปลายของชีวิต โดยไม่ต้องเป็นภาระ ให้ลูกหลานหรือสังคมแล้วล่ะก็ ต้องมีเงินออมเก็บไว้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และการเก็บออมเงินสำหรับ มนุษย์เงินเดือนธรรมดานั้น ใช่ว่าจะเก็บได้ภายในวันสองวันหรือปีสองปี แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสะสม เก็บออมกันยาวนาน ดังนั้น หากใครเริ่มวางแผนการเก็บออมก่อน ก็มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน (ออมเพื่อการเกษียณอายุ) ได้เร็วกว่าคนที่เพิ่งจะคิดได้เมื่อวัยล่วงเลยไปแล้ว

การเก็บออมเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเกษียณอายุนั้น นอกจากเก็บสะสมเงินที่ทำมาหาได้แล้ว เรายัง สามารถนำเงินนั้นๆไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยต่อไปได้ เป็นการให้เงินทำงานแทนเราอีกทางหนึ่ง ซึ่งการปฏิบัติ ลักษณะนี้ก็จะไปเชื่อมโยงกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลในส่วนของการวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ นั่นเองค่ะ

กล่าวโดยสรุปก็คือ การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ การวางแผนภาษี การวางแผนประกันชีวิต และ การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ เป็นองค์ประกอบรวม ของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่เราต้องนำไป ปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อความมั่นคงทางการเงินที่ยั่งยืน

วางแผนการเงินส่วนบุคคลอย่างชาญฉลาดในวันนี้ เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีในวันหน้าค่ะ