data-design1-Report-icon

วิธีการคัดเลือกผู้จัดการกองทุน

วิธีการเลือกผู้จัดการกองทุน

การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เติบโต จึงทำให้การคัดเลือกบริษัทจัดการเพื่อให้เข้ามาบริหารเงินกองทุนเป็นหน้าที่สำคัญที่คณะกรรมการกองทุนจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยคัดเลือกบริษัทจัดการที่มีระบบงานรองรับการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และควรกำหนดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการคัดเลือกบริษัทจัดการ

1.กำหนดเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ด้าน คือ

1.1 ระบบงานของบริษัทจัดการ ประกอบด้วย

ระบบจัดการลงทุน : คณะกรรมการกองทุนควรพิจารณาถึง
- ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุน : การเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนจนถึงการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน มีคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนหรือไม่ ประกอบด้วยใครบ้าง และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร ผู้จัดการกองทุนมีการตัดสินใจลงทุนอย่างไร รวมทั้งมีการบันทึกเหตุผลประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือไม่
- ข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น บทวิเคราะห์จากฝ่ายวิจัยของบริษัทจัดการหรือบริษัทหลักทรัพย์ งบการเงิน ข้อมูลจากการเยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
- การจัดสรรหลักทรัพย์ : กรณีที่มีหลายกองทุนสั่งซื้อหลักทรัพย์ตัวเดียวกัน แต่ได้หลักทรัพย์ไม่ครบตามที่สั่งซื้อ ผู้จัดการกองทุนจะจัดสรรหลักทรัพย์ให้แต่ละกองทุนอย่างไร
- วิธีปฏิบัติของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ : มีวิธีปฏิบัติอย่างไร มีการขอความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุนหรือไม่

ระบบทะเบียนสมาชิกและการรับ-จ่ายเงินให้สมาชิก :
- ช่องทางที่จะอำนวยความสะดวกในการรับ-จ่ายเงิน
- ความรวดเร็วในการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ
- มีระบบฐานข้อมูลและทะเบียนสมาชิกที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ

ระบบการเปิดเผยข้อมูล :
- ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูล เช่น ส่งทางไปรษณีย์ e-mail หรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น
- ข้อมูลที่เปิดเผย ได้แก่ ผลการดำเนินงานของกองทุน รายงานการลงทุนให้คณะกรรมการกองทุนทราบทุกเดือน รายงานสถานะสมาชิกอย่างน้อยทุก 6 เดือน

ระบบการควบคุมการปฏิบัติงาน :
พิจารณาว่าบริษัทจัดการมีหน่วยงานควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีมาตรการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มีการป้องกันการฉ้อโกงของพนักงาน เป็นต้น

ระบบการรับเรื่องร้องเรียน :
พิจารณาว่าหน่วยงานใดของบริษัทจัดการที่เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนและใช้เวลาในการดำเนินการนานเพียงไร

บริการอื่นๆ :
เช่น การให้ความรู้แก่สมาชิก หรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการกองทุนอย่างสม่ำเสมอ

1.2 ความมั่นคงของบริษัทจัดการ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจัดการจะสามารถบริหารกองทุนได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยพิจารณาจาก

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา :
พิจารณาจากงบการเงินหรือรายงานประจำปีของบริษัทจัดการ

ผู้บริหารของบริษัทจัดการ :
พิจารณาจากประสบการณ์ นโยบาย การดำเนินงาน โดยเฉพาะในด้านการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงประวัติการกระทำผิดกฎหมาย

ผู้จัดการกองทุน :
เคยบริหารกองทุนประเภทใดบ้างและมีความชำนาญด้านใด

การประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น :
บริษัทจัดการมีการทำประกันเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือมีวิธีป้องกันอื่น ๆ หรือไม่

2. กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนและน้ำหนักในแต่ละปัจจัย
อาจแตกต่างกันในแต่ละกองทุน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนว่าต้องการให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการกองทุนอาจให้น้ำหนักในเรื่องความมั่นคงของบริษัทจัดการไม่มากนัก เนื่องจากทรัพย์สินของกองทุนถูกแยกจากทรัพย์สินของบริษัทจัดการอยู่แล้ว โดยมีผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยให้ (ตัวอย่างแบบประเมินการคัดเลือกบริษัทจัดการ)

ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนมีความประสงค์จะคัดเลือกบริษัทจัดการรายใหม่ คณะกรรมการกองทุนควรจัดทำขอบเขตการว่าจ้างงานบริษัทจัดการ (Term of Reference) ด้วย โดยระบุระยะเวลาในการว่าจ้างและเงื่อนไขในการยื่นข้อเสนอเป็นบริษัทจัดการ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวต้องสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่คณะกรรมการกองทุนใช้พิจารณาตามข้อ 1.1 และ 1.2 ข้างต้น รวมถึงให้บริษัทจัดการประเมินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ด้วย แล้วจึงพิจารณาจัดส่งขอบเขตการว่าจ้างงานให้บริษัทจัดการที่สนใจ โดยตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลบริษัทจัดการที่รับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้จากเว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเว็บไซต์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (www.aimc.or.th) หลังจากนั้นคณะกรรมการกองทุนจึงดำเนินการต่อในข้อ 3.

3. พิจารณาให้คะแนนบริษัทจัดการ
ในขั้นตอนนี้คณะกรรมการกองทุนอาจเรียกบริษัทจัดการเข้ามาสัมภาษณ์หรือจะเข้าเยี่ยมชมการทำงานของบริษัทจัดการ (on-site visit) รวมถึงอาจสอบถามข้อมูลการใช้บริการจากคณะกรรมการกองทุนรายอื่นประกอบการให้คะแนนด้วยก็ได้ เพื่อตัดสินใจว่าจะต่อสัญญากับบริษัทจัดการรายนั้นต่อไปหรือไม่ หรือควรเลือกบริษัทจัดการรายใหม่รายใด

4. การทำสัญญาว่าจ้างบริษัทจัดการรายใหม่/ต่อสัญญากับบริษัทจัดการรายเดิม
ในการทำสัญญาจ้างบริษัทจัดการกองทุนต้องกำหนดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อให้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานได้ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนต้องพิจารณารายละเอียดของสัญญาในเรื่องบทบาทหน้าที่ของบริษัทจัดการ เงื่อนไขการลงทุน การเปิดเผยข้อมูล และเงื่อนไขการเลิกสัญญาหรือต่อสัญญา เป็นสำคัญ หากต้องการต่อสัญญาหลังจาก 2 ปี สามารถกำหนดระยะเวลาเท่าใดก็ได้ เช่น ทุกรอบปี เป็นต้น

ที่มา : www.Thaipvd.com