about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 ตอนที่ 3 การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล


ยังคงเป็นคำถามสืบเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา เกี่ยวกับ การวางแผนการเงินส่วนบุคคลว่า คืออะไร มีวิธีและขั้นตอนในการดำเนินการ อย่างไร
🅰 การวางแผนการเงินส่วนบุคคลจะสมบูรณ์ได้ ต้องประกอบไปด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1. การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์
2. การวางแผนภาษี
3. การวางแผนการประกันชีวิต
4. การวางแผนการเกษียณอายุ

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ และการวางแผนภาษีก็ทราบกันไปแล้ว จาก 2 ครั้งที่ผ่านมา วันนี้มาดูรายละเอียดการวางแผนการประกันชีวิตกันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าสำคัญไม่แพ้กันเลย

ทั้งนี้ เนื่องจากชีวิตของคนเรานั้น มีความไม่แน่นอน สามารถเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ตลอดเวลา อันอาจจะนำมาสู่การสูญเสียทั้งทางด้านทรัพย์สิน ร่างกาย หรือแม้แต่จิตใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อ ความมั่นคงทางการเงินไม่มากก็น้อย เช่น สูญเสียเงินออม หรือสูญเสียความสามารถในการหารายได้ในอนาคต เป็นต้น

ดังนั้น การวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงหรือบรรเทาความสูญเสียจากเหตุการณ์ต่างๆ ก็นับเป็นการประกัน ความมั่นคงทางการเงินอย่างหนึ่งได้เช่นกัน แล้วอะไรล่ะ...ที่จะลดความเสี่ยงหรือบรรเทาความสูญเสียจาก เหตุการณ์ไม่ปกติได้ สิ่งนั้น ก็คือ “การประกันชีวิต” นั่นเอง ซึ่งประโยชน์จากการประกันชีวิตนั้น พอจะสรุปให้ เห็นเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. ประกันความเสี่ยงให้กับตนเอง กล่าวคือ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน ทำให้เราต้องมีภาระค่าใช้จ่าย และยังอาจสูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน หรือรายได้ที่พึงจะได้รับ แต่หากเราได้วางแผนโดยการทำประกันเอาไว้ก่อนหน้านั้น ก็สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา พยาบาลได้ และยังมีทุนประกันไว้ใช้จ่ายในอนาคตหลังจากนั้นอีกด้วย แม้บางคนทุนประกันไม่มาก ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ตลอดชีวิต แต่ก็น่าจะพอประทังชีวิตไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยที่ไม่เป็น ภาระให้กับคนรอบข้างมากนัก

2. ประกันความเสี่ยงให้กับครอบครัว กล่าวคือ หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้เราเสียชีวิต ครอบครัว ของเราก็จะเดือดร้อนแน่นอน โดยเฉพาะถ้าหากรายได้ที่นำมาใช้จ่ายในครอบครัวมาจากเราเป็นหลัก ความมั่นคงทางการเงินของคนที่อยู่ข้างหลังก็จะสั่นคลอน แต่หากเราทำประกันชีวิตเอาไว้ คนที่อยู่ ข้างหลังก็จะได้รับเงินประกัน มาจุนเจือครอบครัวไม่ให้เดือดร้อนได้บ้างไม่มากก็น้อย

3. ประกันเงินออม การทำประกันบางรูปแบบเป็นการส่งเสริมการเก็บออมของเราด้วย เพราะเมื่อครบ ระยะเวลาประกันตามสัญญา ถึงจะไม่มีการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพเกิดขึ้น บริษัทประกันก็จะจ่ายเงิน ตามกรมธรรม์คืนให้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ตามรูปแบบของการประกันนั้นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการเก็บสะสม เงินออม อีกทางหนึ่งด้วย

การประกันชีวิตยังมีประโยชน์ในด้านภาษีอีกด้วย นั่นคือ ผู้เอาประกันสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ได้จ่ายไปใน แต่ละปีภาษี นำไปใช้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย (สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และได้เอาประกันไว้กับ ผู้รับประกันที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร)

จากที่กล่าวมาทั้งหมด คงจะเห็นแล้วว่า การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ในส่วนของการวางแผนการประกัน ชีวิตนั้น สำคัญไม่แพ้การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือการวางแผนภาษีเลย อย่างน้อยก็เป็นทางเลือก เพื่อนำมาช่วยลดหรือบรรเทาความเสี่ยง จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆได้ค่ะ

รายละเอียดการประกันชีวิต สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์ของบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ซึ่งมีรายชื่อ รวบรวมไว้ที่เว็บไซต์ของสมาคมประกันชีวิตไทย www.tlaa.org ใครที่อยากสุขสบายในยามชรา ไม่ควรพลาด! กับการวางแผนเพื่อการเกษียน ครั้งต่อไปค่ะ