about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 เมื่อนายจ้าง…คิดจะตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตอน 2


เป็นคำถามสืบเนื่องจากครั้งที่ผ่านมาว่า...หากนายจ้างคิดจะตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิ่งที่ควรนำมาพิจารณา ประกอบ ก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้งกองทุน มีอะไรบ้าง? ซึ่งในครั้งที่แล้ว ดิฉันได้กล่าวถึงข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับ นายจ้าง ลูกจ้าง และบริษัทจัดการ วันนี้มาติดตามกันต่อว่า นอกจากข้อมูลสำคัญๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง ที่ต้องนำมาพิจารณา
🅰 สำหรับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนสมาชิกว่าจะต้องมีกี่คน กองทุนสำรอง เลี้ยงชีพสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ลูกจ้างร่วมกับนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้น โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและ นายจ้างจ่ายเงินสมทบ ดังนั้น ไม่ว่าบริษัทจะมีพนักงานเพียงคนเดียว หรือหลายคน ถ้าทุกคนสมัครใจร่วมกันที่จะ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถทำได้ค่ะ

1. ข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับ นายจ้าง ลูกจ้าง และการคัดเลือกบริษัทจัดการ (กล่าวไปแล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา)

2. ค่าใช้จ่าย

การบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องนำมาพิจารณาประกอบ เพื่อ เลือกรูปแบบกองทุนให้เหมาะสมกับองค์กร อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สมาชิกของกองทุน ค่าใช้จ่ายที่สำคัญ ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ 4 ส่วน ได้แก่

» ค่าธรรมเนียมการจัดการ
» ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน
» ค่าทะเบียนสมาชิก
» ค่าผู้สอบบัญชี

3. รูปแบบกองทุน :

รูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอยู่ 2 แบบ คือ

» กองทุนเดี่ยว (Single Fund) มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

      » เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างเพียง 1 ราย

      » คณะกรรมการกองทุนมีอิสระในการกำหนด แก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อบังคับของกองทุนและ นโยบายการลงทุน

      » การลงทุนจะทำในนามของกองทุน ทรัพย์สินของกองทุนจะระบุชื่อกองทุนนั้นโดยเฉพาะ และกองทุนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของกองทุนเองทั้งหมด

» กองทุนร่วม (Pooled Fund) มีลักษณะดังต่อไปนี้

      » เป็นกองทุนที่มีนายจ้างหลายรายร่วมกันจดทะเบียนเป็น 1 กองทุน

      » คณะกรรมการกองทุนไม่มีอิสระในการกำหนด แก้ไข และเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของกองทุน และนโยบายการลงทุน

      » เงินกองทุนของนายจ้างแต่ละรายจะถูกนำมารวมกัน เพื่อลงทุนร่วมกันในนามของกองทุนโดยรวม ซึ่งชื่อกองทุนจะถูกกำหนดโดยบริษัทจัดการ ทรัพย์สินทั้งหมดจะระบุชื่อกองทุนโดยรวม แต่ภาระ ค่าใช้จ่ายจะถูกแบ่งกันรับผิดชอบตามส่วนของเงิน และเงื่อนไขข้อตกลงที่แต่ละสมาชิกมีอยู่กับกองทุน

ดังนั้น การที่จะเลือกจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น Single Fund หรือ Pooled Fund นั้น นายจ้างต้องพิจารณา ดูให้ถ้วนถี่ โดยนำเอาปัจจัยที่รวบรวมจากการสำรวจข้อมูลทั้งหมด มาชั่งน้ำหนักดู ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ได้มี เงื่อนไข หรือ ความต้องการที่ซับซ้อนมาก และเป็นบริษัทที่มีพนักงานจำนวนน้อยด้วยแล้ว ก็อาจจะเหมาะสม กับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Pooled Fund เพราะมีระบบการบริหารที่ร่วมกันแชร์ค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่ต้องแบกรับ ภาระค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป หากนายจ้างต้องการที่จะกำหนด แก้ไข และเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อบังคับกองทุน ในเรื่องต่างๆ โดยอิสระได้..ดั่งใจ การจัดตั้งกองทุนแบบ Single Fund ก็จะมีความเหมาะสม แม้จะมีภาระค่าใช้จ่าย ที่สูงขึ้นก็ตาม

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นหรือข้อมูลพื้นฐาน ที่นายจ้างสามารถจะนำไปพิจารณาเมื่อคิดจะ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายที่นายจ้างอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น กลไก การบริหารงานของกองทุน หรือขั้นตอนในการจัดตั้งกองทุนว่าจะต้องเตรียมความพร้อมด้านใดเพิ่มเติมอีกบ้าง ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการวางแผนประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ของกองทุน เป็นต้น ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย www.thaipvd.com ค่ะ