about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

🆀 PVD VS RMF


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เหมือนกันหรือไม่ อย่างไร
🅰 มีผู้ลงทุนหลายท่านสอบถามไปยังสมาคมว่าระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) เหมือนกันหรือไม่ เพราะมีชื่อเรียกคล้ายๆกัน ก็เลย สับสนว่าแท้จริงแล้วเรียกชื่ออย่างไรถึงจะถูก วันนี้ดิฉันก็เลยนำมาเป็นหัวข้อในการถาม-ตอบ เพื่อไขข้อ ข้องใจให้ หายสงสัยกันค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แม้จะมีชื่อเรียกที่คล้ายๆ กัน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็น กองทุน แบบเดียวกันดังที่ผู้ลงทุนบางท่านเข้าใจค่ะ เพียงแต่กองทุนทั้งสองกองนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ในทำนองเดียวกัน นั่นคือจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวให้ผู้ลงทุนมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพากรในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษีขณะที่ดำรงสมาชิกภาพหรือขณะที่ ลงทุนอยู่ในกองทุนทั้งสองนี้

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (PVD) เป็นกองทุนส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความสมัครใจร่วมกัน ระหว่าง นายจ้างและลูกจ้างของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับลูกจ้างในอนาคต เมื่อยามเกษียณ อายุซึ่งอาจจะไม่มีรายได้แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ใช่ว่าจะสมัครเป็นสมาชิกกันได้ตามใจชอบ เพราะหาก คนๆ นั้นไม่ได้ทำงานกับบริษัทซึ่งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือทำงานอิสระแล้วล่ะก็ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิก ของกองทุนนี้ได้ และ ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีบริษัทเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนบริษัทอีก จำนวนหนึ่งนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนนี้ ฉะนั้นหากใครที่มีความต้องการอยากจะออมเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณ ก็ต้องเก็บออมเอง ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมขึ้น เพื่อให้บุคคลที่ไม่มีโอกาสได้ ออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ออมเงินเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน กองทุนรวมที่ว่านั้นก็คือกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพนั่นเอง

“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการออมเงินไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า ผู้ลงทุนในกองทุนรวมนี้อาจจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งแต่เดิม ขาดโอกาสสะสมเงินออมแบบที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่พร้อมที่จะจัด ให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือแม้แต่ลูกจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จ บำนาญอยู่แล้ว แต่มีความประสงค์ที่จะเก็บออมมากกว่าเดิม บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถจะลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด ไว้เท่านั้น

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่ากองทุนทั้งสองนี้ล้วนถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนได้ใช้เป็น เครื่องมือในการออมเงินระยะยาว เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณทั้งสิ้น หากลูกจ้างหรือนายจ้างท่านใดที่บริษัท ของตนเองยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่อยากจะผลักดันให้กองทุนนี้เกิดขึ้น ท่านสามารถเข้าไปศึกษา รายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้จากเว็บไซต์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ www.thaipvd.com ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ส่วนผู้ที่ต้องการอยากจะออมเงินผ่านกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์กองทุนรวม www.thaimutualfund.com ของ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน หากมีข้อสงสัย หรือต้องการซักถามรายละเอียดเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่ Call Center สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 0-2264-0900 กด 6 ค่ะ

ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ .... เป็นทางเลือกในการออมเพื่ออนาคต ของคุณนะคะ