about-icon-6

คำถามที่พบบ่อย

qa-icon

คำถามที่พบบ่อย

0การออมและการลงทุนต่างกันอย่างไร
การออม คือ การเก็บหอมรอมริบเงินเผื่อไว้ใช้จ่ายในยามที่ต้องการหรือยามฉุกเฉิน โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะนำเงินออมไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีเงินฝากประจำ ณ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการเบิกถอนมาใช้จ่าย

ส่วนการลงทุน คือ การนำเงินที่มีอยู่ไปเป็นทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนหรือให้เงินทุนนั้นงอกเงยเพิ่มมากขึ้นหากการลงทุนนั้นประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันหากการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จก็จะทำให้เกิดการขาดทุนหรือสูญเสียเงินลงทุนนั้นได้เช่นกัน ซึ่งความไม่แน่นอนของความสำเร็จจากการลงทุนนี้ก็คือความเสี่ยงนั่นเอง
1ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีการลงทุนใดที่ไม่มีความเสี่ยงเลยบ้างหรือไม่
ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน คือ หากเรานำเงินไปลงทุนประกอบกิจการหรือลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงมาก เราก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้กำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนในจำนวนที่สูง ในขณะที่หากเรานำเงินไปลงทุนประกอบกิจการหรือลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงน้อย เราก็จะมีโอกาสที่จะได้กำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนในจำนวนที่ต่ำไปด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าการลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนในการประกอบกิจการหรือทรัพย์สินใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะได้รับกำไรหรือขาดทุนด้วยกันทั้งนั้น และจะไม่มีการลงทุนใดที่จะให้แต่ผลกำไรมากๆ โดยมีระดับความเสี่ยงน้อยหรือไม่มีความเสี่ยงเลย
2หากมีเงินเหลือใช้ควรทำอย่างไร
ควรเก็บออมเงินนั้นไว้เผื่อการใช้จ่ายในยามที่ต้องการหรือยามฉุกเฉินก่อน และเมื่อมีเงินออมเพียงพอแล้วจึงนำเงินที่เหลือใช้นั้นไปลงทุนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับคุณลักษณะ ทัศนคติ มุมมอง และความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างความมั่งมีให้แก่ตน ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความคาดหวังในอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน รวมทั้งการยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนในระดับที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ก็เพื่อหากการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จจะได้ยังคงมีเงินออมเหลืออยู่เพียงพอที่จะใช้ในยามจำเป็นได้
3 กองทุนรวมคืออะไร และเหมาะกับผู้ลงทุนลักษณะใด
กองทุนรวม คือ โครงการลงทุนที่ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนหลายๆ รายมารวมกันให้เป็นเงินก้อนใหญ่ เพื่อนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ ตราสารทางการเงิน เงินฝาก และทรัพย์สินอื่นๆ เช่น หุ้นสามัญ พันธบัตร หุ้นกู้ บัตรเงินฝาก ใบสำคัญแสดงสิทธิ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน โดยมีบริษัทจัดการเป็นผู้จัดตั้งและบริหารกองทุนรวมให้ได้ผลตอบแทนแล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุนไว้ในกองทุนรวมนั้น

กองทุนรวมนั้นจะเป็นทางเลือกของการลงทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่มีความคุ้นเคยกับระบบตลาดทุน ไม่มีความรู้ความชำนาญที่จะเลือกลงทุนได้ด้วยตนเอง นักลงทุนรายย่อยที่มีเงินลงทุนค่อนข้างจำกัด หรือนักลงทุนที่ไม่มีเวลาพอที่จะคอยติดตามความเคลื่อนไหวของภาวะการลงทุนทุกๆ วัน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจัดการมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นมืออาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการลงทุนตามเกณฑ์ที่ทางการกำหนดเป็นผู้บริหารจัดการการลงทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมนั้นๆ โดยจะทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าจะซื้อจะขาย จะลงทุนอะไร เมื่อไหร่ แล้วนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนโดยมีหน่วยงานราชการ (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนถูกเอารัดเอาเปรียบ

อย่างไรก็ดี เรื่องของภาวะการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถคาดการณ์เรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้องเสมอไป ดังนั้น การลงทุนไม่ว่าจะลงทุนด้วยตนเองหรือผ่านมืออาชีพที่มีหน่วยงานราชการกำกับดูแลก็มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนหรือได้รับเงินลงทุนกลับคืนทั้งจำนวนหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกัน
4 หลักการในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมมีอย่างไร
อันดับแรก คือ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุนของตนเองก่อนว่าต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนนั้นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน มีความนิยมชื่นชอบส่วนตัวในกองทุนรวมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือบริษัทจัดการใดบริษัทจัดการหนึ่งหรือไม่ มีข้อจำกัดด้านการลงทุนหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อนำมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเบื้องต้นในการเลือกประเภทของกองทุนรวมที่จะลงทุนให้มีความเหมาะสมกับผู้ลงทุนเอง

หลังจากนั้น จึงนำกองทุนรวมที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นมาพินิจพิเคราะห์ถึงผลการดำเนินงานในอดีตในช่วงระยะเวลาต่างๆ ที่ผ่านมาว่าสามารถให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมนั้นในลักษณะใดบ้าง มากกว่าหรือน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของกลุ่มกองทุนรวมประเภทนั้นหรืออัตราผลตอบแทนของเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบของกลุ่มกองทุนรวมประเภทนั้นอย่างไร แล้วจึงเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ให้อัตราผลตอบแทนในลักษณะที่ดีอย่างสม่ำเสมอหรือตามที่ผู้ลงทุนเห็นว่าดีที่สุดสำหรับผู้ลงทุน

อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมต่างๆ มิได้เป็นหลักประกันว่ากองทุนรวมนั้นๆ จะให้ผลตอบแทนในอนาคตในลักษณะเดียวกันกับที่ผ่านมา เป็นเพียงแต่ข้อมูลสถิติให้ผู้ลงทุนได้นำไปใช้อ้างอิงประกอบการพิจารณาเท่านั้น เมื่อได้เลือกสรรกองทุนที่จะลงทุนได้แล้วผู้ลงทุนก็จัดสรรเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนรวมต่างตามที่กำหนด

ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตามที่ได้ลงทุนไว้ว่าให้ผลตอบแทนเป็นไปตามที่ผู้ลงทุนได้มุ่งหมายไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งหากกองทุนรวมที่ได้ลงทุนไว้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามที่ผู้ลงทุนมุ่งหมายหรือหากในขณะลงทุนนั้นผู้ลงทุนมีลักษณะ คุณสมบัติ เงื่อนไข และข้อจำกัดด้านการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ลงทุนก็จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนการลงทุนในกองทุนรวมเสียใหม่ให้มีความเหมาะสมกว่าเดิมตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นวงจรเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จบ
5การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับการลงทุนด้วยตนเอง
การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบเมื่อเทียบกับการลงทุนด้วยตนเอง คือ

ข้อได้เปรียบ
1. มีผู้จัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นมืออาชีพที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ เป็นผู้บริหารเงินลงทุนให้
2. สามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนไปยังทรัพย์สินในหลายๆ อย่าง
3. ให้โอกาสแก่ผู้ลงทุนที่จะสามารถลงทุนในทรัพย์สินที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากหรือทรัพย์สินที่มีข้อจำกัดซึ่งผู้ลงทุนทั่วไปไม่สามารถลงทุนได้ด้วยตนเอง
4. ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น ในเรื่องของการติดตามสิทธิและผลประโยชน์จากการลงทุน (เงินปันผลหรือลูกหุ้นตามสิทธิ)
5. โดยส่วนใหญ่แล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะทำให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่องที่มากกว่าการลงทุนด้วยตนเอง
6. ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจากผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนไม่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ (ยกเว้นกรณีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด)

ข้อเสียเปรียบ
1. การติดต่อซื้อขายหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการโดยตรงหรือผ่านตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการ อาจจะมีความยุ่งยากและไม่รวดเร็วเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง
2. ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากกองทุนรวมมีกฎเกณฑ์บังคับตามกฎหมายในเรื่องการถือครองทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสด ที่ทำให้กองทุนรวมไม่สามารถลดความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเสี่ยงที่ลงทุนไว้ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดหรือทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสดได้ ดังเช่นการลงทุนด้วยตนเอง
3. การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมจะดำเนินการไปตามขบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจทำให้การรับรู้ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมของผู้ลงทุนมีความล่าช้า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินผ่านกองทุนรวมให้มีความเหมาะสมกับผู้ลงทุนจึงอาจไม่คล่องตัวและไม่รวดเร็วเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง
6กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นอย่างไร มีส่วนแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและการลงทุนของบุคคลธรรมดา ทั้งที่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นพนักงานบริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคล้ายๆ กับการสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีการสะสมเงินเข้ากองทุนทั้งจากส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง แต่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ก็สามารถสะสมเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องมีนายจ้างร่วมสะสมด้วย) คือ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไม่เกินปีละ 300,000 บาท ทั้งนี้ ให้นับรวมกับการสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วยถ้ามี แต่ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้

ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วงห้าปีปฏิทินล่าสุดไปคืนให้กับกรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด มิฉะนั้นผู้ลงทุนก็จะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย นอกจากนั้น เงินกำไรจากส่วนเกินทุนที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนในส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนดังกล่าวก็จะต้องนำไปคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วย ซึ่งจะต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมทั่วๆ ไปที่ไม่ต้องนำเงินกำไรจากส่วนเกินทุนที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน ไปคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้เลย
7หากผู้ลงทุนสนใจจะลงทุนในกองทุนรวมจะติดต่อไปที่ไหนและติดต่อกับใคร
ผู้ลงทุนสามารถติดต่อโดยตรงไปยังเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทจัดการแต่ละแห่ง หรือจะติดต่อไปยังผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ณ บริษัทซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการแต่ละแห่ง เพื่อขอข้อมูลและหนังสือชี้ชวนมาศึกษาพิจารณาเองก่อนลงทุน หรือจะขอคำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ระดับหนึ่ง เพิ่มเติมด้วยก็ได้

ผู้ขายทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ระดับหนึ่ง นี้จะเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและความรู้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด ในการทำหน้าที่พิจารณาศึกษาคุณสมบัติ ความชอบ และข้อจำกัดในการลงทุนของผู้ลงทุนแล้วแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมให้กับผู้ลงทุน